บางตอนจากหลักสูตร ผ่อนคลายกาย–ใจและใคร่ครวญ (Retreat and Reflection)
โลกเปลี่ยนแปลงเพราะคำถาม อย่างเจ้าชายสิทธัตถะถามว่า “ทำไมชีวิตเป็นทุกข์ จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร” แล้วด้วยคำถามดังกล่าว ท่านทุ่มเทชีวิตแสวงหาคำตอบเป็นเวลา 6 ปี เอาชีวิตเข้าแลก
นักวิจัยรางวัลโนเบิลใช้เวลา 10-20 ปีกว่าจะได้คำตอบ และบางครั้งก็ต้องแลกด้วยชีวิต อย่างมาดาม คูรี่ พยายามเข้าใจเรื่องรังสี จนพบอานุภาพรังสีเอ๊กซ์เรย์ แต่สิ่งที่เธอต้องแลกกับการค้นพบ ก็คือ เธอได้รับรังสีนั้นมากและป่วยเป็นมะเร็ง เสียชีวิตในที่สุด
ไอน์สไตน์ ตั้งคำถามว่า “ถ้าฉันขี่ลำแสง แล้ววิ่งด้วยความเร็วของแสง จักรวาลจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร” คำถามนี้นำไปสู่คำตอบที่เรียบง่าย คือ E= MC2 ซึ่งเป็นสมการที่เปลี่ยนโลกจนถึงทุกวันนี้
กุญแจของการเรียนรู้ คือ การตั้งคำถาม ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งในโลกสมัยใหม่ ที่ซับซ้อน ถามเพื่อสืบค้นร่วมกัน ถามเพื่อเปิดประเด็นและการสนทนา งานวิจัยดี ๆ มาจากคำถามที่ดี ๆ งานวิจัยสุดยอดมาจากคำถามสุดยอด
ในชีวิตของเรา เคยมีคำถามอะไรบ้างไหม ในโครงการของเรา มีคำถามอะไรสำคัญๆ หรือไม่
การตั้งคำถามและสืบค้น คือ การทำตัวเหมือนนักสืบ สืบค้นหาความจริง ด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากข้าใจ เมื่อไรที่เราเห็นความจริง เราก็จะตัดสิน ตกลงใจอะไรได้ดีขึ้น
คำถามที่ดีมีลักษณะสำคัญ 5 ประการ คือ
- คำถามที่กระตุ้นให้เกิดพลัง
- คำถามที่กระตุ้นให้อยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ
- คำถามที่กระตุ้นปัญญา
- คำถามที่เอาไปใช้เฉพาะหน้า (practical questions) ค่อนข้างเป็นคำถามที่ต้องการสูตรสำเร็จ ส่วนใหญ่เป็นคำถามประเภท how to
- คำถามที่ทำให้เกิดความร่วมมือ
นอกจากคำถามที่ดีแล้ว เราจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ดีก็ต้องอาศํย กระบวนการสนทนาที่ดี มีบรรยากาศแห่งความช้า เพื่อให้เกิดความลุ่มลึก ให้เราเห็นรายละเอียดบางอย่าง
สิ่งสำคัญในการเรียนรู้เป็นทีม คือ การสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ (container) เช่น ห้อง ซึ่งเราต้องใส่ใจเช่นกัน เพราะพื้นที่ทางกายภาพแต่ละแห่งมีพลังไม่เหมือนกัน (power of place) พื้นที่บางแห่งมีพลังมากกว่าธรรมดา เช่น การสนทนากันในบรรยากาศธรรมชาติกับห้องปิดทึบ เรารู้สึกไม่เหมือนกัน พลังในการสนทนาและการคิดก็ต่างกันด้วย
นอกจากนั้น บรรยากาศยังหมายถึงความรู้สึก สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความรู้สึกอ่อนน้อมกับสถานที่ กับวาระการสนทนา กับผู้ร่วมสนทนา บรรยากาศในความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และต่อการงาน ประสบการณ์ที่ทำ จะส่งผลต่อพลังในการเรียนรู้ ความรู้ด้วย
การสนทนาที่มีสภาวะแวดล้อมตั้งแต่กายภาพ จนถึงบรรยากาศทางความรู้สึก สัมผัสสิ่งที่ลึกซึ้ง อดีต รากเหง้า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สิ่งมีค่าทั้งหลายมักบรรยายได้ยากมาก แต่สัมผัสด้วยสภาะจิต (อยู่เหนือคำบรรยาย) องค์รวม คือ การเชื่อมสรรพสิ่งทั้งหลายเข้าด้วยกันในตัวเรา ในปัจจุบันขณะ
การครุ่นคิดพินิจนึก (Reflection and Contemplation)
การฟังแล้วจำคนอื่นก็เป็นความรู้ของคนอื่น ต่อเมื่อเราฟังผู้อื่น แล้วนำความรู้ ข้อมูลที่ได้ยินได้ฟัง หรืออ่านมา ย่อย กลั่นกรอง ใคร่ครวญ ต่อยอด ความรู้ที่เกิดขึ้นจะเป็นความรู้ภายในของเรา เป็นการเรียนรู้แบบของเราเอง การครุ่นคิดเป็นทักษะสำคัญในการเรียนรู้ ถอดบทเรียนและความรู้ เป็นทักษะที่อาศัยการไตร่ตรองด้วยกายและใจที่ใคร่ครวญ (contemplation) ในสภาวะสมาธิ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราช้า สงบ เย็นได้ จึงจะเกิดความสว่าง เบา สบาย
การครุ่นคิดเหมือนการฝึกตนให้เห็นต้นไม้แต่ละต้น แล้วเห็นป่าด้วย เปรียบเสมือนการดำดิ่งลงใต้มหาสมุทรเพื่อเห็นเรื่องราวที่ลึกกว่าระดับผิวน้ำ หรือเปรียบดั่งการขึ้นไปบนที่สูงแล้วมองลงมาที่สนามปรากฏการณ์ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นให้กว้างขวาง กว้างไกล เห็นภาพรวม หรือเปิดประตูแง้มไว้ให้ลมภายนอกพัดเข้ามาข้างใน เพื่อให้สิ่งสดใหม่เข้ามาในตัวเราได้บ้าง ดังนั้น เราต้องฝึกทำจิตให้ว่าง วางจิตลิงเข้าสู่จิตเงียบสงบ (จิตสว่างไสว) เพื่อให้ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาหาเรา การสะท้อนการครุ่นคิด จึงไม่ใช่การพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นการสะท้อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสำคัญ หรือมีความหมายอะไร กำลังส่งสัญญาณ หรือบอกอะไรกับเรา ฯลฯ